ระดับชั้นของการประกันตัว

ระดับชั้นของการประกันตัว

การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลจะทำได้ดังนี้

  1. การขอประกันตัวระหว่างชั้นฝากขังทำได้เมื่อผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการนำตัวมาขออนุญาตศาลฝากขังระหว่างที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ  ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นขอประกันตัวต่อศาล 
  2. การขอประกันตัวชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นทำได้เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแล้วก็จะเปลี่ยนฐานะจากผู้ต้องหาเป็นจำเลย  จำเลยมีสิทธิขอประกันตัวต่อศาลได้  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว  จำเลยจะยื่นขอประกันตัวก่อนวันนัดหรือในวันนัดที่ระบุในหมายเรียกให้มาแก้คดีก็ได้
  3. การขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา  เมื่อมีกรณีที่จำเลยถูกขังหรือจำคุก  โดยผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค  จำเลยอาจยื่นขอประกันตัวก่อนที่จะยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นฎีกา หรือจะยื่นขอประกันตัวพร้อมกันหรือาหลังจากยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นฎีกาก็ได้  การขอประกันตัวดังกล่าวให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น  ที่พิพากษาคดี  หรืออาจยื่นต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลฎีกา  แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้  การประกันตัวในชั้นใดก็จะใช้ได้ในชั้นนั้น  เมื่อชั้นของการของประกันตัวเปลี่ยนไปก็ต้องยื่นขอประกันตัวใหม่


การยื่นคำร้องขอประกันตัว

  1. ผู้ขอประกันจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
    ในการติดต่อขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องขอประกันตัว พร้อมด้วยเอกสารและหลักประกันประกอบคำร้องดังกล่าว โดยนำต้นฉบับเอกสารพร้อมสำเนามายื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และเสนอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งต่อไป ซึ่งเอกสารในการประกอบคำร้องขอประกันตัวมีดังนี้
    1. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    2. ทะเบียนบ้าน
    3. กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรสจะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
      1. บัตรประกันตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรรัฐและทะเบียนบ้านของคู่สมรส
      2. ใบสำคัญสมรส
      3. หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส
    4. กรณีชื่อเจ้าของหลักทรัพย์ไม่ตรงกับที่ปรากฎในหลักทรัพย์จะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติมได้แก่
      1. หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน หรือ
      2. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล
      3. ใบสำคัญการสมรส
    5. กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างประเทศ หากมีหนังสือเดินทาง (Passport) ต้องนำมาแสดงด้วย หากเอกสารที่ต้องนำมาในวันยื่นคำร้องขอประกันตัวไม่ครบถ้วน ผู้ขอประกันอาจขอผัดผ่อนต่อศาลเพื่อพิจารณาอนุญาตให้นำมาส่งในภายหลังได้
  2. หลักประกันใดบ้างที่สามารถใช้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้?
    1. เงินสด
    2. หลักทรัพย์อื่น เช่น
      1. โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3)
      2. พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว หรือเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย (แคชเชียร์เช็ค) หรือเช็คที่ธนาคารรับรองแล้ว
      3. สมุดเงินฝากประจำหรือใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร
      4. หนังสือค้ำประกันหรือหนังสือรับรองของธนาคาร
      5. หนังสือรับรองของบริษัทประกันภัย
      6. ในบางกรณีอาจใช้หลักประกันต่อไปนี้ได้
        1. ทะเบียนรถยนต์หรือทะเบียนรถจักรยานยนต์
        2. ภ.บ.ท.5 ส.ค.1 น.ส.2 หรือ สปก.
        3. บ้านพักอาศัย
        4. หลักทรัพย์ที่ติดจำนองหรือมีภาระติดพัน
    3. บุคคลเป็นหลักประกันโดยแสดงหลักทรัพย์
    4. ส่วนราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา
    5. เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการการเมืองหรือนายความ (ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน เฉพาะตนเองหรือญาติใกล้ชิด) โดยสามรรถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
    6. ผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ผู้สอบบัญชี ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนฯ เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย อาจใช้ตนเองเป็นหลักประกันได้ สำหรับกรณีความผิดที่ถูกกล่าวหาเกิดจาการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพ โดยสามารถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
  3. วิธีนำหลักประกันมาใช้ในการขอประกันตัว ผู้ขอประกันจะต้องทำอย่างไร?
    1. กรณีใช้โฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. ต้องมีหนังสือรับรองประเมินราคาที่ดินจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือจากที่ว่าการอำเภอในเขตที่ที่ดินตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี ซึ่งออกให้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน รับรองโดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนหรือผู้ทำการแทน กรณีรับรองโดยสำนักงานที่ดินอำเภอ ผู้รับรองราคาประเมินจะต้องเป็นนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ทำการแทนหรือเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ
    2. กรณีใช้สมุดเงินฝากธนาคารต้องมีหนังสือรับรองยอดเงินฝากคงเหลือปัจจุบันจากสาขาธนาคารที่เปิดบัญชี พร้อมระบุข้อความว่าธนาคารจะไม่ให้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากศาลก่อน
    3. กรณีใช้บุคคลตามข้อ 7.5 เป็นหลักประกัน ต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงสถานะ ตำแหน่ง ระดับอัตราเงินเดือน และควรระบุให้ชัดเจนว่าจะนำไปประกันใคร หากมีภาระผูกพันในการทำสัญญาประกันหรือใช้ตนเองเป็นหลักประกันผู้อื่นไว้ก็ให้แสดงภาระผูกพันนั้นด้วย
    4. กรณีใช้ทะเบียนรถยนต์หรือทะเบียนรถจักรยานยนต์ผู้ประกันต้องนำรถมาให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศาลตรวจดูสภาพและประเมินราคา
    5. กรณีใช้ที่ดิน ภบท.5 ส.ค.1 น.ส.2 หรือ สปก. ผู้ประกันต้องมีหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจากธนาคาร เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
    6. กรณีใช้บ้านพักอาศัย ผู้ประกันควรต้องมีภาพถ่ายบ้านและให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านมีหนังสือรับรองการประเมินราคาให้
    7. กรณีใช้หลักทรัพย์ที่ติดจำนองหรือมีภาระติดพันผู้ขอประกันต้องแสดงได้ว่าราคาทรัพย์ส่วนที่เกินจากจำนองหรือจากภาระติดพันมีจำนวนเพียงพอต่อการใช้เป็นหลักประกัน
    8. กรณีบิดามารดาเป็นผู้ขอประกันบุตร ศาลอาจให้ประกันโดยไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์ แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นบุตร
โพสต์เมื่อ :
2560-12-12
 8354
ผู้เข้าชม
 | 
 2
ความเห็น

แสดงความคิดเห็น

captcha
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์