การขอประกันตัว คือ
การขออนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาลตามตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าความจำเป็นในระหว่างหารสอบสวนหรือการพิจารณาคดี เพราะหากไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมก็ควรที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวออกไป อันเป็นการปฏิบัติตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้
การปล่อยชั่วคราวมีกี่ประเภท
การที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวหรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน คือ การปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกันแต่อย่างใด เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกเท่านั้น
- การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยตัวชั่วคราวโดยผู้ขอประกัน ต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาลซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาตามกำหนด ผู้ขอประกันจะถูกปรับตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน ตลอดจนอาจมีการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาประกันนั้น
- การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีสัญญาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะมาตามที่กำหนดในสัญญาหรือตามหมายเรียก และมีการวางหลักประกันไว้เพื่อที่จะบังคับเอากับหลักประกันเมื่อมีการผิดสัญญา
การยื่นคำร้องขอประกันตัว ผู้ขอประกันจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
ผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องขอประกันตัว พร้อมด้วยเอกสารและหลักประกันประกอบคำร้องดังกล่าว โดยนำต้นฉบับเอกสารพร้อมสำเนามายื่นต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และเสนอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งต่อไป ซึ่งเอกสารในการประกอบคำร้องขอประกันตัวมีดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- ทะเบียนบ้าน
- กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรสจะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและทะเบียนบ้านของคู่สมรส
- ใบสำคัญการสมรส
- หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส
- กรณีชื่อเจ้าของหลักทรัพย์ไม่ตรงกับที่ปรากฏในหลักทรัพย์จะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
- หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน หรือ
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล
- ใบสำคัญการสมรส4.5 กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างประเทศ หากมีหนังสือเดินทาง (passport) ต้องนำมาแสดงด้วยหากเอกสารที่ต้องนำมาในวันยื่นคำร้องขอประกันตัวไม่ครบถ้วน ผู้ขอประกันอาจขอผัดผ่อนต่อศาลเพื่อพิจารณาอนุญาตให้นำมาส่งในภายหลังได้
ศาลจะสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเหตุใดบ้าง
สำหรับการสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 108/1 บัญญัติให้ศาลกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
- ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
- การอนุญาตให้ประกันจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสืบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล